กว่า 4 ทศวรรษ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมเกษตรยั่งยืน สู่ความสำเร็จ “3 หมู่บ้านเกษตรกรรม”
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยความสำเร็จ “หมู่บ้านเกษตรกรรม” 3 แห่ง ตลอด 46 ปี สร้างความมั่นคงในอาชีพแก่เกษตรกร ลดความเสี่ยงตลาดผันผวน สร้างรายได้แน่นอน ปีละกว่า 1 ล้านบาทต่อครอบครัว มุ่งยกระดับภาคเกษตรไทยต่อเนื่องทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลักดันสู่ ‘เกษตรยั่งยืน‘
นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์และซีพีเอฟมุ่งสนับสนุน อาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกรรายย่อย ผ่านการส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบ “หมู่บ้านเกษตรกรรม” มาตั้งแต่ปี 2520 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการแก่เกษตรกร ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ ผสานกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ และพัฒนาสู่สังคมพึ่งพาตนเอง ตลอดระยะเวลา 46 ปี ที่บริษัทร่วมกับเกษตรกรไทยพัฒนาอาชีพ ไปพร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน นับจากโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร และต่อยอดสู่โครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จนถึงปัจจุบันทำให้เกษตรกรกว่า 140 รายและครอบครัว มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ที่แน่นอน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมสู่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งเป็นสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) เพื่อผลักดันสู่ ‘เกษตรยั่งยืน’
“ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อความสำเร็จสู่พี่น้องเกษตรกร ในรูปแบบหมู่บ้านเกษตรกรรม ทั้ง 3 แห่ง ที่สามารถวัดความสำเร็จได้ในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สะท้อนผ่านรายได้เกษตรกรปีละกว่า 6 แสน ถึงมากกว่า 1 ล้านบาทต่อครอบครัว ตามประเภทสุกร ปริมาณการผลิต และอาชีพเสริมของแต่ละคน พร้อมส่งเสริมการจ้างงานในชุมชนเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และบริษัทยังร่วมกับเกษตรกรพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง นำไปสู่สังคมที่พึ่งพาตนเองได้ พร้อมต่อยอดสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามนโยบายฟาร์มสีเขียว (green farm) ด้วยการพัฒนาพื้นที่ว่างในฟาร์มสุกรเป็นป่านิเวศในชุมชน เพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชนรอบข้างอย่างมีความสุข สอดคล้องกับกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” นายสมพร กล่าว
สำหรับ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2520 ถือเป็นต้นแบบเกษตรผสมผสานยั่งยืน ด้วยแนวคิด 4 ประสาน คือ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร โดยการพลิกฟื้นผืนดินทรายที่เสื่อมสภาพ เพาะปลูกไม่ได้ผล จำนวน 1,253 ไร่ มาจัดรูปที่ดินใหม่ แบ่งเป็นแปลงละ 24 ไร่ พร้อมสร้างบ้านพัก 1 หลัง และโรงเรือนเลี้ยงสุกร 1 หลัง ให้แก่เกษตรกร 50 ครอบครัว ที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพเสริมที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมและวิถีชุมชน อาทิ ทำสวนมะม่วง ปลูกยางพารา เลี้ยงไก่ไข่ออร์แกนิค เพาะเห็ดฟาง ปลูกผักปลอดสารพิษ ด้วยระบบการบริหารจัดการที่อาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการมีส่วนร่วม ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า คือ รายได้ จากเริ่มต้นที่มีรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มเป็นประมาณปีละ 960,000 – 1,800,000 บาทต่อครอบครัว และกลายเป็นชุมชนเลี้ยงสุกรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่เป็นต้นแบบด้านการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทุกคนมีที่ดิน ทรัพย์สิน มีความเป็นอยู่ที่ดี บุตรหลานมีโอกาสได้ศึกษาในระดับสูงเท่าที่ตนเองต้องการ ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมุ่งจัดการสภาพแวดล้อมและทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการป่าเชิงนิเวศเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ และโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ที่พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน
ส่วน หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 ด้วยความมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ด้วยการจัดสรรพื้นที่ดินกว่า 4,000 ไร่ สู่การเกษตรผสมผสานแบบทันสมัย โดยนำแนวคิด 4 ประสานมาใช้ เพื่อให้เกษตรกร 64 ครอบครัว ได้ร่วมกันพัฒนาอาชีพ นำวิชาการทางการเกษตรสมัยใหม่ นวัตกรรมเครื่องจักรกล และระบบการจัดการครบวงจรมาใช้ในกระบวนการผลิต ปัจจุบันมีเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 81 ราย มีรายได้จากการเลี้ยงสุกรพันธุ์และสุกรขุน ซึ่งเป็นอาชีพหลักประมาณ 600,000 – 1,800,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี และมีรายได้จากอาชีพเสริม ทั้งการเลี้ยงปลาดุก การปลูกผักกระเฉดน้ำ การปลูกผักสวนครัว และจำหน่ายปุ๋ยมูลสุกรราว 60,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมุ่งดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างกลไกความร่วมมือกับชุมชน สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้ ผ่านศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศ บนพื้นที่ 30 ไร่ ปลูกต้นไม้กว่า 18,000 ต้น มีพันธุ์ไม้กว่า 220 ชนิด ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และเตรียมขยายเพิ่มอีก 27 ไร่ ในพื้นที่ข้างเคียง วันนี้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี กลายเป็น หมู่บ้านสามัคคี เทคโนโลยีทันสมัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพตำรวจและคุณภาพชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ เครือซีพีและซีพีเอฟจึงได้ริเริ่มโครงการฯ ในปี 2549 ด้วยการจัดสรรที่ดินกว่า 230 ไร่ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์ แก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัว จำนวน 31 ราย เพื่อให้มีรายได้เสริมและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยอาชีพหลักคือการเลี้ยงสุกรที่มีซีพีเอฟเข้าไปบริหารจัดการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดี โดยมีอาชีพเสริมอื่นๆตามความถนัดของแต่ละบุคคล ปัจจุบันมีการบริหารจัดการในรูปแบบ “บริษัท หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ จำกัด” ถือหุ้นโดยข้าราชการตำรวจทั้ง 31 ครอบครัว และเมื่อปี 2561 ทุกรายได้รับมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว./