โรคระบาดหมูลามไม่หยุด พบเสี่ยงสูง 50 จังหวัด ฟาร์มรายเล็กรายกลางหวั่นตายยกเล้า ชิงขายหมูขุนทำราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มร่วงหนักจาก 80 เหลือ 72 บาท/กก. บริษัทยาสัตว์ไม่รอกรมปศุสัตว์เดินหน้าเปิดศูนย์ขายระบบพ่นฆ่าเชื้อ ASF ในคนและรถ เจาะศูนย์กลางการระบาดที่ชลบุรี-ราชบุรี
ผู้เลี้ยงหมูยังคงเผชิญกับโรคระบาดหมูต่อไป โดยล่าสุดโรคได้ลุกลามลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง-สุราษฎร์ธานี เริ่มปรากฏหมูป่วย-ตายต่อเนื่อง ด้านหนึ่งผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่เชื่อว่า หมูตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF แต่กรมปศุสัตว์ยัง “ไม่ยอมรับ” การระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย
แต่กลับแจ้งว่า หมูตายจากโรคพีอาร์อาร์เอส หรือ PRRS ทั้ง ๆ ที่โรคนี้มีการระบาดในไทยมาเป็น 10 ปี และมีวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ ไม่ใช่ลักษณะการระบาดใหญ่เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
ฟาร์มหนีตายแห่ขายหมูทิ้ง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากการสอบถามฟาร์มเลี้ยงสุกรในพื้นที่เข้ามาว่า โรคระบาดลึกลับในสุกรที่กรมปศุสัตว์ระบุว่า เป็นโรค PRRS นั้นได้ระบาดลุกลามไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยที่กรมปศุสัตว์ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้
ประกอบกับผู้เลี้ยงสุกรเองก็กังวลว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่การระบาดของโรค PRRS แต่อาจเป็นโรค ASF ซึ่งมีอาการของโรคใกล้เคียงกันมาก โดยเป็นที่เข้าใจกันดีว่า หากหมูเป็นโรค ASF แล้วไม่มีวัคซีนรักษา ต้องฆ่าหรือกำจัดทิ้งอย่างเดียว
ที่สำคัญหากยอมรับว่าเป็นโรค ASF แล้วจะกระทบการส่งออกหมูและผลิตภัณฑ์ “เป็นเรื่องที่ฟาร์มขนาดใหญ่และผู้ส่งออกกังวลมาก กลัวจะส่งออกไม่ได้”
ทั้งนี้เชื่อกันว่า การระบาดของโรคดังกล่าวได้ขยายวงกว้างไปถึง 50 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะการแพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงหมูในจังหวัดราชบุรี ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร มีปริมาณการเลี้ยงสุกรกว่า 2 ล้านตัวต่อปี ทั้งที่ อ.ปากท่อ และ อ.โพธาราม โดยการระบาดน่าจะมาจากการสั่งซื้อลูกสุกรจากต่างพื้นที่เข้าไปเลี้ยง
ล่าสุดพบว่าเชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์จากเดิมทำให้หมูมีอัตราการตาย “ช้าลง” กว่าช่วงแรกที่พบการระบาดในจังหวัดเชียงรายเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ที่หมูตายช้าลงทำให้เจ้าของฟาร์มรีบเทขายหมูมีชีวิตออกไปนอกพื้นที่ กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้โรคระบาดลุกลามอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่กรมปศุสัตว์มีประกาศเฝ้าระวัง การเคลื่อนย้ายหมูข้ามเขตต้องมีใบรับรองการตรวจโรคชัดเจนและตั้งด่านตรวจ
แต่ก็ยังลักลอบนำสุกรที่มีโรคเคลื่อนย้ายออกไปต่อเนื่องในทุกภาค ทำให้โรคได้ลุกลามเข้าสู่ฟาร์มระดับกลางและระดับใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งฟาร์มระบบเปิดและระบบปิด หลายฟาร์มในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดโรต่างเร่งเทขายสุกรออกมา เพราะเกรงจะควบคุมโรคไม่อยู่
ส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของผู้เลี้ยงรายย่อยเคลื่อนไหวระดับ 72-74 บาทหรือ “ต่ำกว่า” ระดับราคาที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศยืนที่ 80 บาทหลายสัปดาห์แล้ว ขณะที่ราคาลูกหมูและอาหารสัตว์ทุกชนิดช่วงนี้ปรับขึ้นสูง
“ล่าสุดมีข่าวว่ากรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ ASF Compartment เพื่อกำหนดมาตรการการเลี้ยงสุกรในอนาคต ซึ่งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ออกระเบียบมาเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศนำไปปฏิบัติแล้ว แต่ไทยจะสามารถดำเนินการเข้มงวดได้ตามที่วางไว้หรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป
โดยเฉพาะมาตรการที่ว่าหากตรวจพบมีโรคเข้าฟาร์มหมูทั้งหมดจะต้องถูกทำลาย หลักเกณฑ์ดังกล่าวผู้เลี้ยงรายย่อยคงทำได้ลำบาก เท่ากับในอนาคตอาชีพการเลี้ยงสุกรเหลือเพียงรายกลางค่อนไปทางใหญ่และรายใหญ่เท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว
แม้กรมปศุสัตว์ยังไม่ยอมประกาศการระบาดของโรค ASF ในไทย แต่กลับปรากฏรายงานข่าวจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรี (ข่าวเด่นราชบุรี) ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้วว่า จังหวัดราชบุรีได้ยกระดับพื้นที่เฝ้าระวังโรค ASF อย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น จังหวัดจึงได้ออกมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค ASF เข้มงวด แต่ต่อมาต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จังหวัดราชบุรีได้ออกข่าวว่า ในพื้นที่ยังไม่มีการระบาดของโรคที่รุนแรงในฟาร์มหมูแต่อย่างใด
เสี่ยงสูงโรคระบาด 50 จังหวัด
อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดลงพื้นที่เก็บข้อมูล (เจาะเลือด-swab) อย่างละเอียด รายงานการประเมินความเสี่ยงของโรคระบาดที่สำคัญในไก่และสุกรในระดับตำบลและระดับอำเภอ โดยเฉพาะอัตราการตาย พร้อมประเมินระดับความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงมาก
ในส่วนของการประเมินความเสี่ยงของโรคระบาดสำคัญในสุกรในช่วงครึ่งเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ใน 77 จังหวัดมีจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงถึง 50 จังหวัด 243 อำเภอ มีจังหวัดที่เสี่ยงสูงมากถึง 32 จังหวัด 75 อำเภอ
โดยจังหวัดแรก ๆ ที่มีการเลี้ยงสุกรสูงสุดพบความเสี่ยงในจังหวัดราชบุรี เสี่ยงสูงมากที่ อ.โพธารามกับ อ.ปากท่อ, จังหวัดนครปฐม เสี่ยงสูงมากที่ อ.เมือง-อ.กำแพงแสน-อ.สามพราน-อ.พุทธมณฑล, จังหวัดฉะเชิงเทรา เสี่ยงสูงมากที่ อ.เมือง-อ.บางคล้า,
จังหวัดชลบุรี เสี่ยงสูงมากที่ อ.พนัสนิคม, จังหวัดตาก เสี่ยงสูงมากที่ อ.แม่สอด, จังหวัดนครราชสีมา เสี่ยงสูงมากที่ อ.โนนสูง-อ.สูงเนิน, จังหวัดบุรีรัมย์ เสี่ยงสูงมากที่ อ.นางรอง
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสี่ยงสูงมากที่ อ.กาญจนดิษฐ์ และจังหวัดพัทลุง เสี่ยงสูงมากที่ อ.บางแก้ว-อ.เขาชัยสน
เอกชนตั้ง ASF Car Center
ด้าน น.ส.อรวรรณ อำนรรฆสรเดช ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวทโปรดักส์ รีเซิร์ช แอนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ VRI ในเครือเวทโปรดักส์ (VPG) กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ได้แพร่ระบาดรอบประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งจีน -เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-เมียนมา-กัมพูชา-สปป.ลาว ซึ่งในประเทศเหล่านี้มีบริษัทในเครือเวทโปรดักส์ตั้งอยู่ ส่งผลให้บริษัททราบว่า ตัวพาหะสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ ASF อย่างรวดเร็ว 80% มาจาก “รถและคน” จึงได้หาวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว
และพบว่า หากมีกระบวนการล้างรถและทำความสะอาดคนขับรถ เพื่อฆ่าเชื้อ ASF อย่างมีประสิทธิภาพ จะลดการปนเปื้อนของเชื้อสู่สิ่งแวดล้อมอย่างได้ผล ดังนั้นนายสัตวแพทย์ธานินทร์ ชีวะผลาบูรณ์ กรรมการผู้จัดการเครือเวทโปรดักส์ จึงมีนโยบายเปิดบริการ “ASF Survive Car Center” ล้างอัดฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อให้รถและคนขึ้นแห่งแรกที่สถานีบริการน้ำมัน PT หนองเสม็ด จ.ชลบุรี
ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์มลดจุดเสี่ยงการแพร่เชื้อ และอยากซื้อระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปทำใช้ในฟาร์มของตัวเอง เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และแห่งที่2 สาขาโพธาราม จ.ราชบุรี เป็นความร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรีร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี และมีแผนขยายบริการไปในภาคต่าง ๆ
-
รู้จัก “ไวรัส ASF” ใน “สุกร” หากกลายพันธุ์จะไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อได้