ร้านค้าในชลบุรีบ่นอุบห้ามนั่งกิน วอนเห็นใจอยากให้นั่งกินในร้านเว้นระยะห่างก็เพียงพอแล้ว ยอมรับว่าแย่โควิดระบาดรอบ 3 ชาวบ้านไม่มีเงินเยียวยา ทำให้ค้าขายทรุด ยอดชลบุรียังพุ่งไม่หยุด 151 ราย โรงพยาบาลสนามขาดแคลนวอนช่วยรับบริจาค
เมื่อวันที่ 30 เมษายน กรณีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างหนักส่งผลให้ จ.ชลบุรี ประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ส่งผลให้ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดออกมาหลายมาตรการ โดยเฉพาะร้านค้าต่างๆ ห้ามนั่งรับประทาน ให้ซื้อไปรับประทานที่บ้าน โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง นายสุรพล รุ่งสุริยากรณ์ อายุ 43 ปี เจ้าของร้านนายกบเป็ดย่างฮ่องกง ริมถนนอ่างศิลา อ.เมืองชลบุรีกล่าวว่า เมื่อเป็นคำสั่งของรัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ชลบุรีก็ต้องปฏิบัติตาม ยอมรับว่ารายได้หายไปมากเหมือนกัน เนื่องมาจากหลายคนเมื่อออกมาจากบ้าน เพื่อมาทำงานก็จะแวะรับประทานอาหาร เมื่อไม่สามารถนั่งรับประทานได้ก็ไม่แวะ ทำให้ไม่มีคนเข้าร้าน ที่สำคัญช่วงที่ผ่านมาก็แย่อยู่แล้ว เพราะกลัวไวรัสโควิด-19 ก็ไม่ยอมออกมาซื้ออาหารรับประทานกัน
“โควิดระบาดรอบแรก รอบที่ 2 รัฐบาลยังมีเงินเยียวยา ทำให้หลายคนออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่รอบที่ 3 รัฐบาลไม่มีเงินเยียวยาแล้ว ทำให้ทุกคนต้องประหยัด ทำให้ร้านค้าไม่สามารถค้าขายได้ดีเหมือนก่อน” นายสุรพลกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามอยากให้มีการผ่อนปรนในเรื่องมาตรการให้นั่งในร้านรับประทานได้ แต่ให้มีการเว้นระยะห่าง รวมทั้งหามาตรการป้องกันตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เชื่อว่าทุกร้านพร้อมปฏิบัติตาม ซึ่งจะดีกว่าห้ามนั่งและซื้อไปรับประทานที่บ้าน ที่สำคัญบางร้านเตรียมลงทุนหวังว่าวันแรงงานจะมีคนมาเที่ยวกันเยอะ เมื่อเจอคำสั่งให้ไปซื้อกินที่บ้าน ทำให้หลายร้านขาดทุนเหมือนกัน
นายนเรศ เอี่ยมอ่อง เจ้าของร้านข้าวขาหมูไม่กินไม่รู้ ตั้งอยู่ริมถนนพระยาสัจจา ติดกับโรงพยาบาลเอกชล 1 ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรีกล่าวว่า ยอมรับว่าคำสั่งห้ามนั่งรับประทานในร้านถือว่าแย่สุดๆ เลย ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะทุกวันนี้ค้าขายก็ไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อก่อนเปิดช่วงเวลา 16.00-21.00 น. คงต้องแก้ปัญหาเปิดมาขาย ก่อนเวลา 12.00 น.ก็ไม่รู้ว่าจะไปรอดหรือเปล่า ยอมรับว่าเดือนพฤษภาคมนี้จะชี้ชะตา เพราะโดนเต็มๆ ชาวบ้านไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยแล้ว เพราะรัฐบาลไม่ได้มีการเยียวยาแล้ว
“ที่สำคัญอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ พิจารณาร้านค้าที่มีการเปิดโล่ง ให้นั่งรับประทานได้แต่ให้เว้นระยะห่าง เหมือนในอดีตที่ทำมา แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้ายังเปิดได้ ทั้งที่มีคนมาซื้อของกันอย่างแออัด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังสามารถเปิดได้ อยากให้มีการพิจารณาด้วย” นายนเรศกล่าว
ทางด้านแม่ค้าขายข้าวต้มปลา “ราชา” ตลาดโต้รุ่ง หน้าอำเภอเมืองชลบุรีกล่าวว่า เมื่อมีการประกาศห้ามนั่งรับประทานยอมรับว่าได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน เพราะยอดขายจะตกลง เนื่องจากชาวบ้านต้องการรับประทานร้อนๆ อย่างไรก็ตามอยากให้มีการอะลุ่มอล่วยให้นั่งรับประทานได้ แต่เว้นระยะห่าง อย่างนี้พ่อค้าแม่ค้าพออยู่ได้ ยอมรับว่าเคยขายปลาวันละ 50 กิโลกรัม ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดขายได้วันละประมาณ 20 กิโลกรัม อยากให้รัฐบาลเห็นใจเพราะที่ผ่านมาก็แย่อยู่แล้ว อยากให้อนุโลมให้นั่งรับประทานได้ และปฏิบัติตามกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าปฏิบัติตามอยู่แล้ว
ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้เปิดโครงการร่วมส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วยโควิด และทีมแพทย์ โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ จ.ชลบุรี ด้วยการรับบริจาคทุนทรัพย์ สิ่งของเครื่องใช้ อาหารแห้ง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 นายณพล บริบูรณ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร และนายกสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์ภาคตะวันออก นายฉัตรชัย ทิมกระจ่าง ว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา พร้อมนางสมพิศ ทิมกระจ่าง ได้นำเงินมาร่วมกันบริจาค โดยมีนายแพทย์ภราดร กุลเกลี้ยง ผู้อำนวยการโรงบาลสมิติเวช ชลบุรี พร้อมทีมแพทย์ให้การต้อนรับ หลังจากนั้นนายแพทย์ภราดร กล่าวว่า ยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จ.ชลบุรีหนักมาก และมีการเปิดโรงพยาบาลสนาม 4 แห่ง และยังขาดแคลนในเรื่องอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ จึงได้เปิดศูนย์รับบริจาค สำหรับผู้สนใจอยากช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด และทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามสามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลสนาม รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ได้ทุกแห่ง
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จ.ชลบุรี พบว่ามียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 151 ราย ประกอบไปด้วย อ.เมืองชลบุรี 13 ราย อ.ศรีราชา 37 ราย อ.บางละมุง 86 ราย อ.พนัสนิคม 1 ราย อ.สัตหีบ 1 ราย อ.บ้านบึง 2 ราย อ.พานทอง 6 ราย เข้ามารับการรักษาตัวในพื้นที่ จ.ชลบุรี 5 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,416 ราย รักษาหายแล้ว 761 ราย กำลังค้นหาผู้สัมผัสทั้งหมดจำนวน 163 ราย และค้นหาเชิงรุกอีกจำนวน 1,185 ราย รวมทั้งการค้นหาเชิงรุกรถพระราชทาน อีก 1,108 ราย