ความสวยงามที่ไม่มีเหตุผล อาจไม่ใช่แนวทางของการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบสำหรับชีวิตคนเราในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากผลงานหลายชิ้นของนักออกแบบผู้เข้าประกวดและได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมปี 2566 (Design Excellence Award 2023) หรือรางวัล DEmark ในปีนี้ และยังได้รับรางวัล PM’s Export Award สาขา Best Design ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละสาขา บ่งบอกได้ถึงแนวคิดการออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และเหตุผล ก่อนใช้อารมณ์และความรู้สึกในการสร้างชิ้นงานให้มีความสวยงาม
คุณอมรเทพ คัชชานนท์ Founder & Design Director A.M.O Intergroup Co.,Ltd.
ผลงานผลิตภัณฑ์ : LA DA Collection – Lounge Chair สาขา Furniture
“การส่งผลงานเข้าประกวด คือความท้าทายที่ทำให้เราไม่หยุดนิ่งและพัฒนางานอยู่ตลอด”
ผลงาน LA DA Collection – Lounge Chair ได้รับรางวัล DEmark ออกแบบยอดเยี่ยมในสาขาเฟอร์นิเจอร์ ปี 2023 คุณอมรเทพเล่าว่า ด้วยมุมมองง่ายๆ เพียงแค่บิดออกจากกรอบเดิมๆ เราก็สามารถสร้างความแตกต่าง ให้เกิดความเร้าใจและตื่นเต้นกับชิ้นงานได้ LA DA Collection – Lounge Chair ถูกสร้างสรรค์มาจากไม้ไผ่ที่หลายคนมองว่าธรรมดา แต่เรามีแนวคิดที่ต้องการสร้างความแตกต่างจากความธรรมดา เราจึงเน้นโชว์รายละเอียดความสวยงามที่ซ่อนอยู่ด้านในของไม้ไผ่ออกมา ผลงานที่ได้จึงแปลกและแตกต่างจาก Lounge Chair ที่เราเห็นทั่วไป พร้อมให้ความเห็นในฐานะที่เป็นนักออกแบบว่า “การส่งผลงานเข้าประกวดคือความท้าทายที่ทำให้เราไม่หยุดนิ่งและพัฒนางานอยู่ตลอด การได้รับรางวัลคือการตอกย้ำความมั่นใจว่างานของเราได้รับการยอมรับ ซึ่งเราจะอยู่ในจุดที่คนมองเห็นมากขึ้น รู้จักเรามากขึ้น เกิดการยอมรับในวงกว้าง และเป็นใบเบิกทางไปสู่งานประกวดอื่นๆ ที่เป็นสากลต่อไป”
คุณเฉลิมพงศ์ อ่อนยอง Designer Coomaxtudio
ผลงานผลิตภัณฑ์ : โคมไฟ MARNI สาขา Lifestyle & Fashion
“หาตัวเองให้เจอ ค้นพบตัวตนให้ได้ การลงมือทำสำคัญ ถ้าไม่เคยได้ลองทำผิดเลย เราก็จะไม่มีวันทำถูก”
MARNI หรือ “มณี” ผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark ในสาขา Lifestyle & Fashion ในปี 2023 ผลงานของนักออกแบบ คุณเฉลิมพงศ์ อ่อนยอง Designer ของ Coomaxtudio ด้วยจุดเด่นจากศิลปะภูมิปัญญา “พวงมโหตร” เครื่องแขวนโบราณที่ทำจากกระดาษเพื่อใช้แขวนในงานมงคล มาเป็นแนวคิดในการออกแบบโคมไฟด้วยวัสดุที่ใช้คือไม้ไผ่ จาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี มีลักษณะพิเศษเป็นลำยาวไร้รอยต่อ แล้วนำมาดัดเป็นคลื่นเป็นชั้นให้เกิดความพลิ้วไหวผนวกกับความนุ่มนวลของกระดาษสาเป็นตัวกรองที่ช่วยลดทอนความเจิดจ้าของแสงสว่างให้เกิดความสมดุลเมื่อใช้งาน ชื่อของ MARNI มาจากภาษาฮิบรู หมายถึงความรื่นเริงที่ผ่านกระบวนการคิดและออกแบบสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า และเมื่ออ่านออกเสียงเป็น “มณี” ก็สื่อความหมายที่เป็นมงคล ดังนั้น ผู้ใช้โคมไฟ MARNI จะช่วยเสริมความเป็นมงคลให้กับผู้ใช้ได้อย่างดี คุณเฉลิมพงศ์กล่าวว่า “เราต้องหาตัวเองให้เจอ ค้นพบตัวตนให้ได้ การลงมือทำสำคัญ ประสบการณ์จะหล่อหลอมเราให้มีความเชี่ยวชาญและเป็นครูที่ดีที่สุด ถ้าไม่เคยได้ลองทำผิดเลย เราก็จะไม่มีวันทำถูก”
คุณสมชนะ กังวารจิตต์ Founder / Executive Creative Director Prompt Design
ผลงานผลิตภัณฑ์ : EDGE MINERAL WATER และ MANTRA สาขา Packaging
“เข้าใจความต้องการและเข้าใจตลาดของลูกค้า คุณสมบัติของการเป็นคนช่างสังเกตและหาช่องว่างในการออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่างเป็นสิ่งที่จำเป็น”
คุณสมชนะ กังวารจิตต์ ดีไซเนอร์จาก Prompt Design ผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบ เจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขา Packaging ถึง 2 รางวัลในปีนี้ หนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์ EDGE MINERAL WATER น้ำแร่บริสุทธิ์ ด้วยแนวคิดของสายน้ำแร่ที่ไหลผ่านถ้ำ ลงสู่กระบวนการกลั่นเป็นหยดน้ำบริสุทธิ์และตกผลึกเป็นแท่งหินงอกหินย้อยระยิบระยับ จึงได้รูปทรงบรรจุภัณฑ์ของขวดน้ำเลียนแบบรูปทรงของหินภายในถ้ำที่สวยงามแปลกตา อีกหนึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark ในปีนี้คือ MANTRA บรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ Plant Base เนื้อสัตว์อาหารทะเลที่ทำจากพืช ด้วยแนวคิดการสร้างภาพจำด้วยสีและภาพ ใช้สีน้ำเงินเพื่อให้มีความแตกต่าง และใช้รูปใบไม้มาเรียงเป็นรูปอาหารทะเล ใช้วัสดุในการผลิตกล่องที่ย่อยสลายได้ เคล็ดลับความสำเร็จของ คุณสมชนะ คือความเข้าใจความต้องการและเข้าใจตลาดของลูกค้า เมื่อมีการแข่งขันสูง เราต้องใส่ใจศึกษาคู่แข่งอย่างลึกซึ้ง คุณสมบัติของการเป็นคนช่างสังเกตและหาช่องว่างในการออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่างเป็นสิ่งที่จำเป็น
คุณพชร กังเชิดศรี Head of Product Design , HG Robotics Co.,Ltd.
ผลงาน : Tigerdrone 2 สาขา Industrial & Digital Appliances
“งานออกแบบ ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในเรื่องของการนำเสนอความสวยงามของผลิตภัณฑ์เท่านั้น”
“Tigerdrone 2” ได้รับรางวัล DEmark ในสาขา Industrial & Digital Appliances ปี 2023 ความท้าทายในการออกแบบที่ต้องให้เกิดความสอดประสานทั้งด้าน Digital / Electronic และ Physical โดยให้มีความเป็น Ecosystem สามารถทำงานได้เป็นระบบ ความสำเร็จคือสร้างภาพลักษณ์ของโดรนให้แสดงออกถึงลักษณะของความดุดันแข็งแรงและรวดเร็วดุจเสือ ในขณะที่สามารถนำเสนอจุดเด่นด้านการพัฒนาตัวซอฟต์แวร์ระบบควบคุมซึ่งอยู่ภายในตัวโดรนได้อย่างลงตัว ซึ่งงานออกแบบทางด้าน Industrial Design นี้ยังไม่ค่อยกว้างขวางนักในตลาดประเทศไทย และเราก็มักจะไม่ค่อยได้คำนึงถึงในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้าน Hi tech ให้ออกมาสวยงามและใช้งานได้ดี ซึ่งงานออกแบบไม่ได้มีเฉพาะแต่ในเรื่องของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ความสวยงามของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการออกแบบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนและมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน คุณพชรให้ความเห็น “งานชิ้นนี้ ถือว่าเป็นการจุดประกายให้นักออกแบบในสาขา Industrial Design ให้เกิดกำลังใจในการทำงานออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่าง และอยากให้ Tigerdrone 2 เป็นตัวแทนของคนไทยที่บอกกับทุกคนว่า เราทำได้”
คุณสยาม อัตตะริยะ Design Director Pink Blue Black & Orange
ผลงาน : WHAT DOES MATTER ? สาขา Graphic Design
“การได้รับรางวัล คือผลงานที่ยืนยันถึงความทุ่มเทตั้งใจ และที่สำคัญคือได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า”
What Does Matter ? คือนิทรรศการที่รวมผลงานสื่อความหมายและสะท้อนถึงคุณค่า 25 สิ่งสำคัญ สำหรับการออกแบบ ได้ถูกนำมาจัดแสดง ณ ห้องสมุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark ประเภท Graphic Design ปี 2023 แนวคิดของ “ นิทรรศการ What Does Matter? มาจากการที่ปีนี้บริษัทครบรอบ 25 ปีจึงเป็นการรวบรวมและจัดแสดงผลงานเด่นๆ ของบริษัทที่ได้จัดทำให้ลูกค้ามาตลอดระยะเวลา 25 ปี แต่ละชิ้นงานบอกเล่าถึงที่มาของแนวคิด “สิ่งสำคัญ” สำหรับการสร้างสรรค์งานออกแบบ ซึ่งสยามเน้นว่า การออกแบบไม่ใช่แค่เพียงความสวยงาม แต่ควรคำนึงถึงเรื่องประโยชน์ใช้สอย และประโยชน์ด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน “เราควรมุ่งไปที่การสร้างสรรค์งานของเราให้มีคุณค่า และการได้รับรางวัลก็คือสิ่งที่ยืนยันถึงความทุ่มเทตั้งใจ ที่สำคัญคือการได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ที่เชื่อมั่นในผลงานและฝีมือของเรา”
คุณวรพันธ์ คล้ามไพบูลย์ Design Director Supergreen Studio
ผลงานผลิตภัณฑ์ : โรงแรม UTHAI HERITAGE สาขา Interior Design
“งานออกแบบ เหมือนการทำ Meditation ไม่มีใครบอกได้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน”
โรงแรม UTHAI HERITAGE จังหวัดอุทัยธานี เป็นความท้าทายสำหรับนักออกแบบที่ต้องปรับปรุงโรงเรียนเก่าให้มาเป็นโรงแรมที่พักสุดคลาสสิก UTHAI HERITAGE มีอะไรดีถึงได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม DEmark ในสาขา Interior Design ปี 2023 คุณวรพันธ์ เปิดเผยว่า “เสน่ห์ของเมืองอุทัยคือเป็นเมืองข้าวที่เงียบสงบ โรงเรียนเก่ากับชีวิตครู ผสมผสานเข้ากับความเรียบง่ายของวัสดุไม้ แล้วนำมาออกแบบได้อย่างลงตัว จุดขายคือ ความเงียบ เรียบ สงบ เป็นโรงแรมที่มีคอนเซ็ปต์ในการตั้งชื่อห้องต่างๆ ตามห้องของโรงเรียน เคารพธงชาติทุกเช้าในเวลา 08.00 น. เป็นความแตกต่างที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าพักได้ย้อนระลึกถึงช่วงวัยเด็กนักเรียนได้อย่างกลมกลืน มีเสน่ห์และสนุกสนาน ความสำเร็จคือการเปิดพื้นที่เมืองต่างจังหวัดให้ได้มีการพัฒนา เราสามารถสร้างธุรกิจให้เกิดกับชุมชนและยกระดับการท่องเที่ยวให้ประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม ถ้าจังหวัดอุทัยธานีทำได้ ไม่ว่าจังหวัดไหนๆ ในประเทศไทยก็สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน พร้อมให้มุมมองเรื่องงานออกแบบว่า “เหมือนการทำ Meditation ไม่มีใครบอกได้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เพียงแต่เราต้องมีความตั้งใจ มีความเข้าใจในธุรกิจ หมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และฝึกฝนในการสร้างผลงานให้ได้อย่างต่อเนื่อง”
คุณประพล ชนะเสนีย์ Chief Business Officer Deverhood HT CO.,LTD
ผลงานผลิตภัณฑ์ : GET A สาขา System, Services and Digital Platform
“ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ แต่สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดคือประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้อื่นที่เราสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้”
GET A คือระบบสอบออนไลน์ ที่ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขา System, Services and Digital Platform โดยเริ่มต้นจากการทำวิจัยเกี่ยวกับ Consumer Inside ทำให้เข้าใจและมีความชัดเจนในเรื่องการออกแบบวิธีการและลำดับขั้นตอนในการใช้งาน ประกอบกับการดีไซน์ที่ลงตัวของขนาดภาพและสีที่สวยงามใช้งานได้ง่าย รองรับการใช้งานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหม่หรือเก่าได้ยาวนานถึง 7 ปี มีระบบรักษาความปลอดภัยที่โดดเด่นแตกต่างจากระบบอื่นด้วย Apple Education Program ในระดับ Global และมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนได้อย่างดี ประพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “อยากสนับสนุนให้นักศึกษารุ่นใหม่ๆ ส่งผลงานเข้ามาประกวด DEmark ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ แต่สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดคือประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้อื่นที่เราสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้”
คุณธีรนพ หวังศิลปคุณ Designer Director & Founder TNOP DESIGN
กรรมการตัดสิน G-Mark 2023 ณ ประเทศญี่ปุ่น
G-Mark เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ในการตัดสินผลงานการออกแบบ
ในฐานะตัวแทนกรรมการจากประเทศไทย ในการตัดสินผลงานการออกแบบ G-Mark คุณธีรนพได้เล่าถึงประสบการณ์การตัดสินผลงานที่ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ว่า G-Mark เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการตัดสินผลงานการออกแบบ ที่มีผลงานส่งเข้าประกวดเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 ชิ้นจากทั่วโลก ซึ่งคณะกรรมการต้องใช้เวลาและทุ่มเทกับการพิจารณาชิ้นงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกชิ้นงาน โดยสังเกตได้ว่ากรรมการจากญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อเนื้อหาเรื่องราว ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ความเป็นเหตุเป็นผลของชิ้นงานเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องของความสวยงามนั้นจะเป็นเรื่องรอง นับว่าเป็นมุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างจากสิ่งที่ตนเองเคยมีประสบการณ์ คือเราจะตัดสินใจจากรูปลักษณ์ของชิ้นงานก่อนด้วยสุนทรียะของความงาม ค่อยมาดูเนื้อหาเรื่องราวและความเป็นเหตุเป็นผล โดยส่วนตัวคิดว่าการได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน G-Mark เป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการออกแบบในประเทศ ในการสร้างมาตรฐานการตัดสินผลงานต่อไปในอนาคต