วิจัย อัมราลิขิต คือนายกเทศมนตรีแห่งเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ผู้ดำรงตำแหน่งมานานถึง 8 สมัย เขาใช้เวลากว่า 30 ปี เปลี่ยนเมืองเล็กๆ ที่ถูกมองข้าม เพราะไม่ฉูดฉาดตระการตาเหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในภาคตะวันออก ให้กลายเป็นเมืองที่ได้รับการยอมรับว่าน่าอยู่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เมื่อสภาพแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตของคนที่นี่ก็ดีตามไปด้วย
เราขับรถจากกรุงเทพฯ มาพนัสนิคม ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เมื่อมาถึงได้เดินสำรวจเมืองไปรอบๆ ก็อดคิดว่าตัวเองอยู่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ ด้วยบ้านเรือนน่ารักกระจุกกระจิกร้อยเรียงกันไว้ด้วยถนนขนาด Human Scale เหมาะกับการเดินของมนุษย์ ไม่ข่มขวัญผู้เดินอย่างถนนสายมหึมาในกรุงเทพฯ ที่รถราแล่นฉิวแถบจะเฉี่ยวคนเดิน
จนถึงปัจจุบัน พนัสนิคมมีรางวัลการันตีความเจ๋งจริงอยู่มากมาย อย่างการได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระดับอาเซียน รวมถึงเป็นเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งของประเทศในระดับเทศบาล และเป็น 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลกที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับว่า รณรงค์พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมืองอย่างตั้งอกตั้งใจ
เราจะไปคุยกับ วิจัย อัมราลิขิต ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวไปเมื่อปีที่แล้ว และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ถึงการบริหารงานอย่างเข้าใจชุมชน ทำให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติในพนัสนิคมร่วมมือร่วมใจช่วยกันก่อร่างสร้างเมืองมายาวนานหลายทศวรรษ ภายใต้ความเฉียบคมในการบริหารงานและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของชายคนนี้
01 ภารกิจสร้างเมือง
“ผมเป็นคนพนัสนิคมโดยกำเนิด เมื่อสี่สิบปีที่แล้วไปเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัยแอครอน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตที่ต่างประเทศอยู่เจ็ดปี ไม่เคยคิดจะอยู่ที่นั่นถาวร รู้ดีว่าสักวันหนึ่งเราจะนำความรู้กลับมาเมืองไทย”
คุณวิจัยกลับมาใน พ.ศ. 2520 สิ่งแรกที่ทำคือช่วยธุรกิจโรงสีของที่บ้าน “คุณพ่อผมใฝ่ฝันจะทำโรงสีข้าวนึ่งที่อบข้าวให้แห้งโดยไม่ต้องตาก สุดท้ายก็ทำสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตอนนั้นโด่งดังมาก มีคนมาดูเทคโนโลยีเยอะแยะ แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจปิดกิจการ เพราะอำเภอพนัสนิคมไม่ใช่แหล่งผลิตข้าว เกษตรกรพอมีแต่ไม่มาก ทำให้ผลผลิตในพื้นที่มีไม่พอที่จะส่งมาเข้ากระบวนการที่โรงานเราได้ ถ้าจะไปซื้อจากแหล่งปลูกข้าวทางอีสานก็ไม่คุ้มต้นทุนการขนส่ง”
ช่วงเดียวกันนั้น อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม จรวย บริบูรณ์ เมื่อทราบว่าคุณวิจัยกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาและมีความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา จึงชักชวนให้คุณวิจัยลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกเทศมนตรีใน พ.ศ. 2523 เพื่อจะได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยพัฒนาเมืองพนัสนิคม
7 ปีต่อมา คุณวิจัยก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีในวัย 30 ต้นๆ เท่านั้น
“ทีแรกก็กังวลเหมือนกันนะ หน้าที่ของนายกเทศมนตรี พูดง่ายๆ คือการบริหารเมืองทั้งเมือง ผมก็เอาแนวคิดจากการบริหารอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในเวลานั้นมาประยุกต์ใช้กับการบริหารเมือง มี Foreman มี Supervisor มาดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือคนงานในแต่ละระดับขั้นเลย แต่กว่าจะจับทางถูกก็ใช้เวลาหลายปีเหมือนกัน
“ต้องให้เครดิตท่านนายกฯ คนเก่า ท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์มาก คิดดูว่าเมื่อสี่สิบ ห้าสิบปีก่อน ท่านสร้างอะไรหลายๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้คำนึงถึง เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์ก่อนทิ้งน้ำลงสู่ลำคลองสาธารณะ ทำเป็นที่แรกในประเทศไทย
“เมื่อผมมารับช่วงต่อ ด้วยความที่จบมาทางด้านวิศวะและเรียนด้านสิ่งแวดล้อมมาบ้าง ทำให้เข้าใจระบบงานได้อย่างรวดเร็ว เวลามีคนมาดูงานก็อธิบายได้อย่างชัดเจน จากตรงนี้ ทำให้ส่วนกลางรู้ว่าผมมีความรู้ทางด้านนี้ จึงเริ่มชวนผมไปบรรยายเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ที่อื่นๆ ฟัง”
คุณวิจัยเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่เวลาไปบรรยายแล้วแนะนำตัวว่ามาจากพนัสนิคม คนจะส่ายหน้าไม่รู้จัก งงกันว่ามันคือที่ไหน
“ผมค่อนข้างอึดอัดพอสมควร พนัสเนี่ย เป็นอำเภอที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี ณ ตอนนั้นเลยนะ ทำไมไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเลยล่ะ รู้จักกันแต่บางแสน พัทยา ทำให้ผมมุ่งมั่นตั้งใจว่า ในฐานะผู้บริหารเทศบาล จะต้องทำให้คนรู้จักพนัสนิคมให้ได้ เมื่อคนรู้จัก คนก็จะแวะมา สิ่งนี้จะสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้”
02 เมืองที่สนใจเรื่องขยะ
“แต่การจะทำให้คนมาเที่ยวได้ เราต้องมีแรงดึงดูดใจให้เขามาเที่ยว และเมื่อเขาประทับใจ เขาก็จะมาซ้ำ สิ่งแรกที่ผมทำคือการทำให้เมืองสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเริ่มจากเรื่องขยะ ผมให้เจ้าหน้าที่สำรวจ พบว่าแต่ละวันเมืองเราสร้างขยะยี่สิบห้าตัน ตอนนั้นเรามีประชากรแค่หนึ่งหมื่นสองพันคน สถิติสากลระบุว่าคนหนึ่งคนจะผลิตขยะเฉลี่ยหนึ่งกิโลกรัมต่อวันเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น ในเทศบาลของเราควรมีขยะไม่เกินสิบสองตันต่อวัน แล้วขยะมาจากไหนตั้งเท่าตัว
“เรามาถึงบางอ้อ เมื่อพบว่าถามบาทวิถี เราจึงจัดตั้งถังขยะไว้ทุกหนึ่งร้อยเมตรให้ชาวบ้านมาทิ้ง ทีมงานเทศบาลก็สบาย แค่ตามเก็บเป็นจุดๆ ไป ถนนในเทศบาลมีความยาวทั้งหมดประมาณยี่สิบหกกิโลเมตร เท่ากับเรามีสองร้อยหกสิบถังทั่วเขตเทศบาล ถังขยะตามท้องถนนเป็นแรงจูงใจให้คนอยากทิ้งขยะ แถมยังเป็นจุดที่คนต่างพื้นที่แอบเอาขยะมาทิ้ง ทำให้ปริมาณขยะแต่ละวันมีมากกว่าที่ควรจะเป็นนับเท่าตัว สร้างค่าใช้จ่ายในการบำบัดถึงปีละสี่ล้านบาท”
คุณวิจัยจึงประชุมกับชาวบ้านเพื่อบอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และหารือว่าถ้าเอาถังขยะทั้งหมดออก แล้วให้ชาวบ้านแยกขยะใส่ถุงดำ ตั้งไว้หน้าบ้านแทน ทุกคนโอเคไหม ประชามติส่วนใหญ่เห็นด้วย ทุกวันนี้พนัสนิคมมีขยะแค่ 14 ตันต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดขยะลงเหลือ 1.5 ล้านบาทต่อปี เหลือเงิน 2.5 ล้านบาทต่อปีที่นำไปพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ ได้อีก
“หลายปีที่ผ่านมาเรารณรงค์ให้คนเลิกใช้โฟมหีบห่ออาหาร แม่ค้าคนไหนใช้โฟม เราไม่ให้ขายในเขตเทศบาล ต้องแยกขยะด้วยนะ บ้านไหนไม่แยกขยะ รถขยะจะไม่เก็บขยะบ้านนั้น
“แม้เราจะสามารถแก้ไขเรื่องพฤติกรรมการใช้โฟมได้อย่างจริงจัง แต่ก็มีบางปัญหาที่แก้ไขเด็ดขาดไม่ได้ อย่างการใช้ถุงพลาสติก ตอนแรกผมต้องการให้ประชาชนในเทศบาลเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastic) เพื่อช่วยย่นระยะในการย่อยสลายและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จึงประกาศใช้ระยะเวลาหนึ่ง
“จากนั้นสอบถามผลการดำเนินการกับประชาชน ก็พบปัญหาว่าถุงแบบย่อยสลายได้ยืดหยุ่นและทนความร้อนได้น้อยกว่าถุงพลาสติกแบบปกติ เวลาใส่ของร้อนๆ ถุงมักจะรั่ว หรือถ้าใส่ของหนักก็จะขาดทันที เราก็พิจารณาและประนีประนอมในเรื่องนี้”
คุณวิจัยให้ความสำคัญกับการแยกขยะมาก นอกจากรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในบ้าน และสนับสนุนรถซาเล้งรับซื้อขยะไปรีไซเคิลแล้ว ยังมีการจัดทำโครงการธนาคารขยะ แยกขยะปลายทาง รวมถึงนำขยะย่อยสลายได้มาทำปุ๋ยหมักอย่างจริงจัง เมื่อเป็นเช่นนี้ บ่อทิ้งขยะที่เดิมมีพื้นที่หลายสิบไร่จึงแทบไม่ได้ใช้งาน และเปลี่ยนมาเป็นสวนเกษตรกรรมปลอดสารพิษแทน
03 เมืองแห่งสายน้ำที่ใสสะอาด
ที่พนัสนิคม ทุกครัวเรือนมีบ่อดักไขมันจากการอุปโภค บริโภค จากนั้นน้ำเสียจะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำเสียที่แยกจากคลองระบายน้ำอย่างเป็นสัดส่วน ไม่ได้ปล่อยให้น้ำฝนและน้ำเสียไหลระบายรวมกันอย่างที่เราเห็นตามคลองในกรุงเทพฯ ท่อระบายน้ำเสียเหล่านี้มีปลายทางอยู่ที่โรงงานบำบัดน้ำเสียแบบ Oxydation Pond ที่นอกเมือง
“ระบบท่อระบายน้ำเสียเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ยุคคุณจรวย เริ่มแรกแนวท่อถูกวางไว้กลางลำคลอง แต่ปัญหาที่ตามมาคือเราลอกคลองไม่ได้ ฤดูน้ำหลาก บางทีน้ำก็พาตะกอนต่างๆ มาด้วย ทำให้บางทีท่อน้ำเสียที่วางอยู่กลางคลองหลุด ท่อตันกันไปหมด เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องแก้ไข สุดท้ายก็ได้ไอเดีย นำท่อน้ำเสียเหล่านั้นมาแขวนไว้กับ Retaining Wall ไม่เสียพื้นที่ ง่ายต่อการซ่อมบำรุง
“เมืองของเรามีคลองระบายน้ำสองสายไหลขนาบ นอกจากจัดการเรื่องการปล่อยน้ำเสียลงในลำคลองแล้ว เรากังวลเรื่องดินถล่มและการรุกล้ำพื้นที่คลอง เลยมีการทำ Retaining Wall หรือกำแพงกันดิน ระยะจากต้นถึงสุดเขตคลองระยะสองกิโลเมตรครึ่ง ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน นับการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะสร้างประโยชน์หลายต่อในเวลาต่อมา”
คุณวิจัยบอกว่า พนัสนิคมเป็นเมืองเล็ก ถ้าขยะเต็มเมือง น้ำในลำคลองเน่าเสีย คุณภาพชีวิตของผู้คนย่ำแย่แน่นอน และที่นี่ก็ไม่มีพื้นที่พอจะมาซุกซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม
“ทุกวันนี้เรามีโซเชียลมีเดียที่ใครจะพูดอะไรก็ได้ ถ้าการทำงานของเทศบาลส่วนไหนผิดพลาด เราก็ยอมรับผิดและพร้อมที่จะแก้ไข แต่ก็มีเหมือนกันที่บางคนพูดเอามัน ไม่มีเหตุและผล ในกรณีอย่างนี้ ผมจะชี้แจงจนกว่าจะเคลียร์กันทุกฝ่าย ผมไม่กังวลเรื่องคะแนนเสียง เราเอาความถูกต้อง เอาความจริง ประชาชนรู้ว่าเราพยายามผลักดันอะไร และเราทำจริง วัดด้วยผลงานไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู”
04 เมืองเล็กที่เต็มไปด้วยต้นไม้
เมืองเล็กๆ ขนาดไม่ถึง 3 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้มีสนามกีฬาและสวนสาธารณะอยู่ถึง 9 แห่ง มีทั้งสวนขนาดใหญ่และสวนเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ ที่เท่มากคือสวนแห่งล่าสุดออกแบบตามหลัก Universal Design ที่ทุกคนรวมถึงผู้สูงวัย คนพิการ และเด็กๆ มาใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย มีราวจับและทางลาดตลอดทาง
พนัสนิคมมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ถึง 22 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด ถือว่าเยอะมาก เรียกได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ที่ต้องไปเยี่ยมเยียนกันเป็นประจำ โปรเจกต์ล่าสุดที่กำลังดำเนินการคือการสร้างศูนย์ Day Care สำหรับผู้สูงอายุ
“ผู้สูงอายุแบ่งเป็นเป็นสี่ประเภท หนึ่ง ผู้สูงอายุติดสังคม คือคนที่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกด้วยตัวเอง สอง ผู้สูงอายุภาวะเสี่ยง คือผู้สูงอายุที่ต้องใช้ไม้เท้าและมีคนติดตามอยู่ด้วยตลอด สาม ผู้สูงอายุติดบ้าน คือผู้สูงอายุที่อาจจะยังแข็งแรงในระดับหนึ่ง แต่เสี่ยงต่อการหลงหรืออุบัติเหตุเมื่อออกจากบ้าน และสี่ ผู้สูงอายุติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
“เรามีผู้สูงอายุเยอะ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของศูนย์ Day Care สำหรับดูแล คือผู้สูงอายุภาวะเสี่ยงและผู้สูงอายุติดบ้านให้สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างปลอดภัย ในขณะเดียวกันเราก็มีทีมแพทย์และอาสาสมัครอาสาสมัครสาธารณสุข ออกเยี่ยมผู้สูงติดเตียงอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ
“ที่ศูนย์นี้จะมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ ถ้าคุณต้องไปทำงานตอนกลางวัน แต่เป็นห่วงคุณพ่อคุณแม่อายุมากที่อยู่บ้านตามลำพัง ก็พาพวกท่านมาฝากไว้ที่ศูนย์แห่งนี้ได้ เราจะดูแลให้ เป็นความรับผิดชอบของเทศบาลเลย”
คุณวิจัยอธิบายต่อว่า “เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วตอนที่ผมมารับตำแหน่ง มีต้นไม้รอบเมืองไม่ถึงหนึ่งพันต้น เราเริ่มปลูกต้นไม้ ปลูกไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีต้นไม้อยู่มากกว่าสี่พันต้น ทุกต้นได้รับการขึ้นทะเบียนหมด โดยแบ่งเป็นต้นไม้ที่เทศบาลดูแล และต้นไม้ที่ให้แต่ละชุมชนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ที่ต้นไม้มีป้ายหมายเลขเขียนไว้ชัดเจนว่าต้นไม้ต้นนี้ใครเป็นผู้ดูแล นอกจากจะรู้จำนวนที่ชัดเจนแล้ว เรายังคิดอัตราลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากตัวเลขต้นไม้ได้ด้วย”
คุณวิจัยเล่าว่ากรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำลังจะมาใส่คิวอาร์โค้ดกำกับต้นไม้แต่ละต้นด้วย ต่อไปถ้าอยากรู้ว่าต้นไม้นี้คือต้นอะไร ก็สแกนป้ายแล้วข้อมูลจะปรากฏขึ้น วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงและเข้าใจเรื่องความสำคัญของต้นไม้กับพื้นที่สีเขียว
เทศบาลเมืองพนัสนิคมมีนโยบายทำให้เมืองสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เพราะรู้ดีว่าการปล่อยก๊าซชนิดนี้เป็นสาเหตุของโลกร้อน มีการลดการใช้พลังงานที่เป็นรูปธรรม โดยเก็บสถิติการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา และน้ำมันเชื้อเพลง โดยเทศบาลยังลงมือทำให้ประชาชนดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการเปลี่ยนหลอดไฟนีออนทั้งหมดเป็นหลอดไฟ LED และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในส่วนที่ทำได้อย่างสัญญาณไฟจราจร
“ที่นี่เราทำงานกันเป็นทีม สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ตั้งแต่เทศบาลไปจนถึงประชาชนที่จะต้องร่วมมือกันสร้างขึ้น”
05 พัฒนาคนได้ ก็พัฒนาเมืองด้วย
เขตเทศบาลเมืองพนัสนิคมประกอบไปด้วย 12 ชุมชนย่อย คุณวิจัยเชื่อมั่นในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เชื่อในเรื่องแนวคิดพัฒนาชุมชนแบบ Bottom Up หมายถึงความต้องการที่แท้จริงมาจากชุมชนและลงมือปฏิบัติด้วยชุมชน
“วิธีเสริมสร้างความเข้มแข็ง กลมเกลียวให้ชุมชน คือคุณต้องชี้ให้เขาเห็นว่าตัวเขานั้นมีจุดอ่อน จุดแข็ง ศักยภาพและอุปสรรคที่กีดขวางการพัฒนาของเขาคืออะไร ผมใช้ SWOT Analysis มาทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน อบรม ระดมสมอง ให้ความรู้ รับฟัง เอาเขามาเป็นทีม เหมือนสร้างเทศบาลเล็กๆ อยู่ในเทศบาลใหญ่อีกที
“เชื่อไหม ผมจัดงานประเพณีประจำเมืองชื่อ ‘งานบุญกลางบ้านและเผยแพร่เครื่องจักสานพนัสนิคม’ จนถึงปัจจุบันจัดมาต่อเนื่องยี่สิบแปดปีแล้ว เราไม่เคยจ้างคนนอกมาเป็นออแกไนเซอร์เลย เราทำเองกันหมด ในเมืองของเรามีคนอยู่สามเชื้อชาติ คือไทย ลาว และจีน ผมก็เอาวัฒนธรรมและประเพณีทั้งสามเชื้อชาติมารวมกัน จัดเป็นงานนี้ขึ้นมา งานประสบความสำเร็จและคนเยอะมาก จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาสนับสนุนเรา”
เข้าไปในลานไทยก็จะเจอประเพณีวัฒนธรรมไทย มีการละเล่น เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง
เข้าไปในลานลาวก็จะเจอพิธีบายศรีสู่ขวัญ การละเล่นโปงลาง ลำซิ่ง และอะไรต่างๆ เข้าไปปุ๊บได้กลิ่นปลาร้าปั๊บ
เข้าไปในลานจีน จะมีการปลูกผักสวนครัว มีอุปรากรจีนมาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม
“อีกงานที่เราจัดคือประเพณีไหว้พระจันทร์ เราจัดมาเป็นปีที่สิบแปดแล้ว เชื่อไหมว่าผมเอาคนไทยกับคนลาวมาตั้งโต๊ะไว้พระจันทร์ได้ แม้จะเป็นวัฒนธรรมจีน เพราะคนทั้งสามเชื้อชาติในเมืองเรามีความสนิทสนมกลมเกลียวและทำงานไปด้วยกัน งานต่างๆ มันเลยยั่งยืน เพราะเราใช้ประชาชนเป็นฐานในการทำงาน ตรงนี้แหละคือสิ่งที่เราประสบความสำเร็จที่สุด
“เมื่อประชาชนทุกคนรู้ว่าเมืองกำลังขับเคลื่อนไปทางไหน และเขารู้ว่าตัวเองอยู่ตรงจุดใด มีหน้าที่รับผิดชอบอะไร เขาจะทำมันอย่างเต็มที่ นี่คือหัวใจของการพัฒนาชุมชน”
ขอบคุณข้อมูลจาก readthecloud.co